สำหรับวันนี้เราจะพาทุกคนมาเรียนรู้ถึงหลักการทำงานของเครื่องปรับอากาศ หรือ เรียกกันง่ายๆ ว่า วงจร แอร์บ้าน ว่ามีองค์ประกอบใดบ้างที่สำคัญ รวมถึงหน้าที่ขององค์ประกอบนั้นๆ ด้วย เพื่อเป็นการสร้างความรู้และความเข้าใจ ทั้งยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เอาล่ะเชื่อว่าตอนนี้หลายคนคงอยากรู้กันแล้วว่า วงจรแอร์ ทำงานอย่างไรบ้าง พร้อมแล้วก็รีบตามเรามาอ่านรายละเอียดกันเลย
หลักการทำงานของ วงจร แอร์บ้าน นั้นหากจะคิดง่ายๆ ก็คือ ให้ลองใช้จินตนาการเป็นภาพขึ้นมาประมาณว่า กำลังนำแอลกอฮอล์มาทาที่แขนหรือทาที่มือ สักพักแอลกอฮอล์ที่ทานั้นก็จะระเหยไปในอากาศ ซึ่งขณะที่มันระเหยไปก็จะทำการดูดเอาความร้อนที่อยู่บริเวณผิวหนังของเราออกไปด้วยจึงทำให้เรารู้สึกเย็นๆ จากนั้นก็จะมีการเปลี่ยนสถานะจากแอลกอฮอล์เหลวกลายเป็นไอ
ซึ่งหลักการทำความเย็นของแอร์ก็จะคล้ายๆ กัน แต่ก่อนที่เราจะไปเรียนรู้ถึงกลไกการทำงานของ วงจร แอร์บ้าน เราก็ควรที่จะทราบก่อนว่า ส่วนประกอบหลักๆ ที่สำคัญของระบบการทำการความเย็น ( Refrigeration Cycle ) นั้นมีอะไรบ้าง โดยหลักๆ นั้นจะมีองค์ประกอบอยู่ 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่
1. คอมเพรสเซอร์ ( Compressor ) จะทำหน้าที่เป็นตัวขับเคลื่อนสารทำความเย็น หรือน้ำยาแอร์ในระบบ ( Refrigerant ) ทำให้สารทำความเย็นมีอุณหภูมิและความดันเพิ่มสูงขึ้น
2. คอยล์ร้อน ( Condenser ) จะทำหน้าที่คอยระบายความร้อนของสารทำความเย็นออก
3. คอยล์เย็น ( Evaporator ) จะทำหน้าที่คอยดูดซับความร้อนที่อยู่ภายในห้องไปยังสารทำความเย็น
4. อุปกรณ์ลดความดัน ( Throttling Device ) จะทำหน้าที่เป็นตัวช่วยลดความดันและช่วยลดอุณหภูมิของสารทำความเย็นลง โดยทั่วไปแล้วจะใช้เป็น แค็ปพิลลารี่ทิ้วบ์ ( Capillary tube ) หรือ เอ็กสแปนชั่นวาล์ว ( Expansion Valve )
ในส่วนของระบบทำความเย็นที่เรากำลังจะกล่าวถึงนั่นคือ ระบบอัดไอ ( Vapor – Compression Cycle ) ซึ่งจะมีหลักการทำงานแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือ เป็นการทำให้สารทำความเย็นหรือน้ำยาไหลวนไปตามระบบ โดยเดินทางผ่านส่วนประกอบหลักทั้ง 4 อย่างต่อเนื่องกลายเป็น วัฏจักรการทำความเย็น ( Refrigeration Cycle ) หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า วงจร แอร์บ้าน ซึ่งจะมีกระบวนการทำงาน ดังต่อไปนี้
1. เริ่มต้น วงจร แอร์บ้าน จากตัวคอมเพรสเซอร์ โดยจะทำหน้าที่ดูดซับและอัดสารทำความเย็น เพื่อเป็นการเพิ่มความดันและอุณหภูมิของน้ำยา จากนั้นก็จะทำการส่งต่อเข้าคอยล์ร้อน
2. น้ำยาจะเดินทางไหลวนผ่านแผงคอยล์ร้อน โดยที่มีพัดลมช่วยเป่าเพื่อระบายความร้อนออก ทำให้น้ำยาที่วิ่งออกจากคอยล์ร้อนมีอุณหภูมิที่ลดลงและมีความดันคงที่ จากนั้นก็จะถูกส่งต่อไปยังอุปกรณ์ลดความดัน
3. ปกติแล้วน้ำยาที่เดินทางไหลผ่านอุปกรณ์ลดความดันนั้น จะมีความดันและอุณหภูมิที่ต่ำมากเมื่อไหลเข้าสู่คอยล์เย็น หรือที่เรานิยมเรียกกันว่าเป็นการฉีดน้ำยานั่นเอง
4. จากนั้นน้ำยาก็จะไหลวนผ่านบริเวณแผงคอยล์เย็น โดยที่มีพัดลมคอยเป่าเพื่อช่วยดูดซับความร้อนจากภายในห้อง เป็นการทำให้อุณหภูมิของห้องลดลง ซึ่งส่งผลให้น้ำยาที่จะออกจากคอยล์เย็นนั้นมีอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นแต่ความดันคงที่ ต่อจากนั้นก็จะถูกส่งกลับเข้าไปที่คอมเพรสเซอร์ เพื่อเป็นการหมุนเวียนน้ำยาต่อไป
สรุปหลักการทำงานของ วงจร แอร์บ้าน ง่ายๆ ดังนี้
• สารทำความเย็นหรือน้ำยาแอร์ จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางคอยดูดซับความร้อนจากภายในห้อง ( Indoor ) ให้ออกมาสู่นอกห้อง ( Outdoor ) ต่อจากนั้นน้ำยาแอร์ก็จะถูกทำให้เย็นลงอีกครั้ง แล้วก็นำส่งกลับเข้าห้องเพื่อดูดซับความร้อน ซึ่งกระบวนการนี้จะทำอย่างต่อเนื่องตลอดการทำงานของตัวคอมเพรสเซอร์
• คอมเพรสเซอร์ ถือเป็นอุปกรณ์เดียวในระบบ ที่คอยทำหน้าที่เป็นตัวขับเคลื่อนน้ำยาแอร์ผ่านส่วนประกอบหลักสำคัญ ซึ่งก็คือ คอยล์ร้อน อุปกรณ์ลดความดัน และคอยล์เย็น โดยอุปกรณ์นี้จะเริ่มทำงานเมื่ออุณหภูมิภายในห้องสูงเกินกว่าอุณหภูมิที่เราได้ตั้งเอาไว้ และจะหยุดทำงานเมื่ออุณหภูมิภายในห้องลดต่ำลงกว่าอุณหภูมิที่เราได้ตั้งเอาไว้เช่นกัน ดังนั้นแล้วตัวคอมเพรสเซอร์จะเริ่มและหยุดทำงานอยู่ตลอดเวลา เป็นระยะๆ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการรักษาอุณหภูมิในห้องให้ได้สม่ำเสมอตามที่เราต้องการนั่นเอง
จบไปเป็นที่เรียบร้อยกับเรื่องของ วงจร แอร์บ้าน ที่เราได้นำมาเป็นข้อมูลให้ศึกษากันในวันนี้ หวังว่าจะมีความรู้ความเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น และสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ หรือหากใครไม่รู้จะนำไปใช้อย่างไรก็สามารถอ่านเพื่อเป็นความรู้ติดตัวไว้ได้ เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่เราคิด ดังนั้นเชื่อเถอะว่ารู้เอาไว้ไม่เสียหายแน่นอน
รูปภาพประกอบ : th.zmyhome.com
รูปภาพประกอบ : changfi.com
รูปภาพประกอบ : grandprix.co.th
อ่านต่อที่ รีวิว แอร์ daikin ติดผนัง รุ่น zetas inverter ประหยัดไฟ เบอร์ห้าสามดาว